การถ่ายภาพในทวีปเอเชีย ของ ปีแยร์ รอซีเย

French Sailors at Canton, ค.ศ. 1858. ภาพสามมิติ, การพิมพ์ภาพแบบอัลบูเมน

รอซีเยอยู่ที่ฮ่องกงในปี ค.ศ. 1858 และเริ่มถ่ายภาพในไม่ช้า ภาพส่วนใหญ่ถ่ายในกว่างโจวและรอบ ๆ กว่างโจว[5] ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1859 เนเกรตตีและแซมบรา จัดพิมพ์ภาพของรอซีเย 50 ภาพ รวมถึงภาพสามมิติด้วย ซึ่งได้รับคำวิจารณ์เชิงบวกจากสิ่งพิมพ์รายคาบด้านการถ่ายภาพในช่วงเวลานั้น ใน ค.ศ. 1858 หรือ 1859 รอซีเยเดินทางมาถึงฟิลิปปินส์ เขาเดินทางมาถ่ายภาพภูเขาไฟตาอัล รอซีเยถึงประเทศญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1859 ถ่ายภาพแรก ๆ ในนางาซากิ คานางาวะ โยโกฮามะ และเอโดะ (ปัจจุบันคือโตเกียว) เขาเป็นช่างภาพอาชีพคนแรกที่เดินทางมายังประเทศญี่ปุ่น[6] ภาพถ่ายของรอซีเยภาพหนึ่งในช่วงฤดูร้อนปี ค.ศ. 1859 (ขณะที่เขาอยู่ในนางาซากิ) เป็นภาพลูกชายของฟิลลิพ ฟรันทซ์ ฟ็อน ซีบ็อลท์ ที่ชื่ออเล็คซันเดอร์ กับกลุ่มซามูไรจากกลุ่มนาเบชิมะ[7]

ปลายเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1860 รอซีเยอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ และเป็นไปได้ว่าเขาเดินทางมายังเมืองนี้เพื่อพยายามขออนุญาตติดตามกองทัพอังกฤษ-ฝรั่งเศสที่เดินทัพไปถึงภาคเหนือของประเทศจีนแล้ว เพื่อจะบันทึกภาพสงครามฝิ่นครั้งที่สองตามที่ได้รับว่าจ้างมาให้ลุล่วง[8] หากเขาตั้งใจเช่นนั้นจริง เขาก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะกองทัพทั้งสองได้จ้างช่างภาพเพื่อบันทึกภารกิจไว้แล้ว กองทัพอังกฤษจ้างช่างภาพชื่อ ฟีลิกซ์ เบอาโต และจอห์น แพพิยอน ส่วนกองทัพฝรั่งเศสจ้างอ็องตวน โฟเชอรี, พันโท ดูว์ แป็ง และอาจรวมถึงหลุยส์ เลอกร็อง[9] แม้รอซีเยจะพลาดภารกิจที่เขาได้รับว่าจ้างมา แต่เขาก็ยังอยู่ในเอเชียตะวันออกเพื่อบันทึกภาพต่อไป

เมื่อถึงเดือนตุลาคม ค.ศ. 1860 รอซีเยก็ได้กลับไปยังนางาซากิ เขาถ่ายภาพท่าของเมืองในนามของจอร์จ เอส. มอร์ริสัน กงสุลบริเตนซึ่งจ่ายค่าจ้างให้เขาเป็นเงิน 70 เหรียญสหรัฐ[10] ถึงแม้ เนเกรตตีและแซมบรา โฆษณาภาพถ่ายของรอซีเยอย่างน้อย 2 ครั้งใน ค.ศ. 1860 แต่บริษัทก็ไม่ได้จัดพิมพ์ภาพเหล่านั้นจนเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน ค.ศ. 1861[11] มีการเผยแพร่ภาพถ่ายทิวทัศน์ญี่ปุ่น 5 ภาพของรอซีเยก่อนในหนังสือ เท็นวีกส์อินเจแปน ของจอร์จ สมิท ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1861 และในเดือนกรกฎาคม ปีเดียวกัน ภาพถ่ายในญี่ปุ่นอีก 8 ภาพของเขาก็ปรากฏในรูปแบบภาพพิมพ์หินในหนังสือ Japan, the Amoor, and the Pacific ของเฮนรี อาร์เทอร์ ทิลลีย์[12] นิตยสาร Illustrated London News ฉบับหนึ่งในปี ค.ศ. 1861 ได้ตีพิมพ์ภาพพิมพ์ลายแกะหลายภาพร่วมกันในชื่อ Domestic Life in China โดยใช้ภาพสามมิติที่ถ่ายโดยรอซีเย[13] หนึ่งในภาพถ่ายที่ เนเกรตตีและแซมบรา ได้โฆษณาไว้ในปี ค.ศ. 1860 กลายเป็นภาพถ่ายทิวทัศน์ญี่ปุ่นเชิงพาณิชย์ภาพแรกที่มีการจัดพิมพ์ และเป็นภาพถ่ายญี่ปุ่นที่ลงสีด้วยมือที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ทราบ[14]

จากเอกสารจำนวนมากในช่วงนั้น ทำให้สามารถยืนยันได้ว่ารอซีเยเป็นผู้ถ่ายภาพทิวทัศน์ในจีนและญี่ปุ่นของบริษัท เนเกรตตีและแซมบรา แต่คนทั้งหลายต่างเชื่อว่าผู้อื่นถ่ายภาพเหล่านี้เป็นเวลาหลายปี ไม่ว่าจะเป็นวอลเทอร์ บี. วุดเบอรี ที่ได้รับการว่าจ้างจาก เนเกรตตีและแซมบรา เช่นกัน แต่เขาประจำการอยู่ในปัตตาเวีย (ปัจจุบันคือจาการ์ตา) หรือเอเบิล กาวเวอร์ ช่างภาพสมัครเล่นในญี่ปุ่น สิ่งที่น่าสนใจคือ คลังสะสมภาพถ่ายของมหาวิทยาลัยไลเดินมีภาพถ่ายที่กล่าวกันว่าเป็นภาพของกาวเวอร์ แต่มีการเซ็นว่า "เป. รอซีเย" และในปี ค.ศ. 1859 ทั้งรอซีเยและกาวเวอร์ได้เดินทางไปด้วยกันในเรือหลวงแซมป์ซัน จากนางาซากิไปยังเอโดะ[15]

ใกล้เคียง

ปีแยร์-แอเมอริก โอบาเมอย็องก์ ปีแยร์-ซีมง ลาปลัส ปีแยร์ กูว์รี ปีแยร์ รอซีเย ปีแยร์ ล็องแบร์ เดอ ลา ม็อต ปีแยร์ กอลแมซ ปีแยร์ ฟัน โฮยโดงก์ ปีแยร์ เดอ แฟร์มา ปีแยร์-โอกุสต์ เรอนัวร์ ปีแยร์วาล